วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ใบความรู้ เรื่อง คุณค่าและการวิเคราะห์คุณค่าวรรณคดีและวรรณกรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

วรรณคดีและวรรณกรรม
วรรณกรรม  คือ  ผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากอารมณ์  ความรู้สึกนึกคิดและการใช้ภาษา
อย่างมีศิลปะ
วรรณคดี คือ  ผลงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี  มีศิลปะในการประพันธ์ 
ให้คุณค่าควรแก่การศึกษา  มีการอ่านสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน
การวิเคราะห์  คือ  การแยกแยะรายละเอียดองค์ประกอบต่างๆ ศึกษาภูมิหลังประวัติที่มา
ของเรื่อง  ประวัติผู้แต่ง  เนื้อหา  เรื่องราว  การดำเนินเรื่อง  ตลอดจนลักษณะนิสัยของตัวละคร
การวิจารณ์ คือ การใช้เหตุผล  อธิบายความรู้สึกของตนเพื่อวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น
ต่อกลวิธีการแต่ง  การใช้ภาษารูปแบบคำประพันธ์  เนื้อหา  แนวคิด  แล้วพิจารณางานเขียนนั้น  ทั้งที่นำเสนอโดยตรง  ที่แฝงไว้ให้ตีความและศึกษาบริบทต่างๆ ของงานเขียนนั้น
เนื้อหาวรรณคดีไทย
๑.         วรรณคดีศาสนา  มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างศรัทธาและสั่งสอนให้ผู้อ่านเข้าใจสาระหลักธรรมของศาสนา  เนื้อเรื่องมีหลักธรรมของศาสนา  เนื้อเรื่องมีทั้งที่นำมาจากคัมภีร์ศาสนาโดยตรงและที่นำเค้าโครงหรือแนวคิดของศาสนามาผูกเป็นเรื่อง เช่น ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก  ไตรภูมิพระร่วง  สามัคคีเภทคำฉันท์  ธรรมาธรรมะสงคราม ฯลฯ
๒.        วรรณคดีสุภาษิตคำสอน  แต่งขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้อ่านนำไปประพฤติปฏิบัติ โดยมีเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมทางศาสนา  เช่น สุภาษิตพระร่วง  โคลงโลกนิติ ฯลฯ
๓.        วรรณคดีขนบประเพณีและพิธีกรรม  แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ เป็นบทที่นำไปใช้ในการประกอบพิธี  มีเนื้อหาและการใช้ภาษาที่ไพเราะ  สร้างอารมณ์ให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี เช่น กาพย์เห่เรือ  ลิลิตโองการแช่งน้ำ  มหาชาติคำเทศน์  หรืออีกลักษณะหนึ่ง คือ เนื้อหาให้รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เช่น  พระราชพิธีสิบสองเดือน  โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ฯลฯ
๔.        วรรณคดีประวัติศาสตร์  มีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาสงคราม  การสดุดีวีรชนที่กล้าหาญและเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง  เช่น  ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ลิลิตยวนพ่าย  ฯลฯ

คุณค่าของวรรณคดี
๑.         คุณค่าด้านเนื้อหา  ช่วยให้เป็นความสำคัญของการศึกษาวรรณคดีโดยอาศัยการดำเนินเรื่องหรือแนวคิดเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์วรรณคดี  เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง  การดำเนินเรื่องในเนื้อหาเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ทั้งสอดแทรกแนวคิดและกลวิธีในการดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านได้ใช้มุมมองความคิดพิจารณาเรื่องนั้นๆ โดยผู้อ่านอาจมีทัศนะต่อเรื่องแตกต่างกันไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสนใจของผู้อ่าน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เกิดการพัฒนาความคิดและเสริมสร้างจินตนาการ  ช่วยยกระดับความคิดและจิตใจของผู้อ่านให้สูงขึ้น  การวิเคราะห์คุณค่าด้านเนื้อหา  สามารถวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

      ๑.๑ ได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เช่น  ขนบธรรมเนียม ประเพณี สภาพสังคม  การเมืองการปกครอง  การดำรงชีวิตของคนในสมัยนั้นๆ และความรู้อื่นๆ
          ๑.๒  ได้รับประสบการณ์  กวีถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกิดจากการมองโลกอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก  จากประสบการณ์ส่วนตัวของกวีได้กลายเป็นประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้อ่านกับกวี  ผู้อ่านได้รับประสบการณ์จากการอ่านงานของกวี
๑.๓  เกิดจินตนาภาพ  ผู้อ่านเห็นคุณค่าในความงดงามของวรรณคดีทำให้เกิดความประทับใจ และรับรู้ความคิดที่แปลกใหม่ เป็นกระบวนการที่ให้ราบละเอียดโดดเด่น และให้ผู้อ่านได้สร้างความคิดตาม  ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน  ผู้อ่านเกิดความคิดจินตนาการกว้างไกลและประเทืองปัญญา
๑.๔  พัฒนาจิตใจผู้อ่าน  วรรณคดีต่างต่างๆ มีเนื้อหาสาระ เรื่องราวสนุก อ่านแล้วสบายใจ สามารถกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ให้ข้อคิดคติธรรม อีกทั้งสอนให้ประพฤติดี  ประพฤติชอบ สร้างสรรค์ จรรโลงใจให้เกิดกำลังใจยามที่ท้อแท้
๒.        คุณค่าด้านวรรณศิลป์  วรรณคดีที่ได้รับยกย่องว่าดีเด่นต้องมีกลวิธีการประพันธ์ที่ดีเยี่ยม และให้คำเหมาะสมกับลักษณะหน้าที่ของคำ ถูกต้องตรงความหมาย  เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและมีเสียงเสนาะ  ซึ่งผู้อ่านจะเกิดจินตนาการตามเนื้อเรื่องได้  จะต้องเข้าใจสำนวนโวหารและภาพพจน์  เสมือนได้ยินเสียง ได้เห็นภาพเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความรู้สึกคล้อยตาม  ดังนี้
๒.๑  การใช้โวหาร
๒.๑.๑  บรรยายโวหาร  เป็นการเล่าเรื่อง  เล่าเหตุการณ์ที่มีเวลาสถานที่ ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน  การบรรยายมีจุดมุ่งหมายให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเรื่องราวนั้นๆ เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างไร  เรื่องราวดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริง  หรือเป็นเรื่องที่เกิดจากจินตนาการของกวีก็ได้
๒.๑.๒  พรรณนาโวหาร  เป็นการให้รายละเอียดของเรื่องราว  เพื่อให้ผู้อ่านเห็นสภาพหรือลักษณะที่ละเอียดลออและพรรณนาความรู้สึกกระทบอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน  ทั้งนี้การพรรณนาทำให้ผู้อ่านผู้ฟังมองเห็นภาพ  การพรรณนาจึงมักแทรกอยู่ในการเล่าเรื่องหรือการบรรยาย
๒.๑.๓  เทศนาโวหาร  คือโวหารที่มุ่งในการสั่งสอน  โน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้คล้อยตาม
๒.๑.๔  สาธกโวหาร  คือ โวหารที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้วยการยกตัวอย่างประกอบ  เพื่ออธิบายสนับสนุนความคิดเห็นให้น่าเชื่อถือ
๒.๑.๕  อุปมาโวหาร  คือ  โวหารเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง  เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น
๒.๒  การใช้ภาพพจน์เป็นการพลิกแพลงภาษาให้แปลกออกไปกว่าที่เป็นอยู่ปกติ  ทำให้เกิดรสกระทบความรู้สึกและอารมณ์ต่างกับภาษาที่ใช้อย่างตรงไปตรงมา  ดังนี้
๒.๒.๑  อุปมา  คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งคล้ายหรือเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง  โดยมีคำแสดงความเปรียบ เช่น  เปรียบ  ประดุจ  ดุจ  ดั่ง เหมือน  ราวกับ  ราว  เพียง  เพี้ยง  ฯลฯ
๒.๒.๒  อุปลักษณ์  คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  ซึ่งแตกต่างจากการอุปมา  โดยอุปลักษณ์มักใช้คำว่า  เป็น  คือ  ในการเปรียบ
๒.๒.๓  สัญลักษณ์  คือ  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  โดยไม่มีคำแสดงความเปรียบ  “เขาเป็นคนเจ้าชู้มาก  เห็นเปลี่ยนตุ๊กตาหน้ารถประจำเลย”
๒.๒.๔  อติพจน์  คือ  การใช้ถ้อยคำที่กล่าวผิดไปจากความเป็นจริง  โดยกล่าวถึงสิ่งหนึ่งเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดูเกินมากกว่าความจริง
๒.๒.๕  บุคคลวัต  คือ  การกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจให้มีการกระทำเหมือนมนุษย์
๒.๒.๖  สัทพจน์  คือ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ 

๒.๓  การเล่นเสียงคือการเลือกสรรคำที่มีเสียงสัมผัสกัน ได้แก่ การเล่นเสียงอักษร เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ เพื่อเพิ่มความไพเราะและแสดงความสามารถของกวีที่แม้จะเล่นเสียงของคำแต่ยังคงความหมายไว้ได้    ดังบทประพันธ์
        เสนาสูสู่สู้                  ศรแผลง
ยิ่งค่ายหลายเมืองแยง              แย่งแย้ง
รุกร้นร่นรนแรง                    ฤทธิ์รีบ
ลวงล่วงล้วงวังแล้ว                 รวบเร้าเอามา
๒.๓.๑  การเล่นเสียงอักษร  คือการใช้คำที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกันหลายๆ พยางค์ติดกัน  เพื่อความไพเราะ  จากบทประพันธ์ดังนี้  รุก-ร้น-ร่น-รน-แรง-ฤทธิ์-รีบ  เป็นเสียง /ร/
๒.๓.๒  การเล่นเสียงสระคือ การใช้สัมผัสสระที่มีเสียงตรงกัน  ถ้ามีตัวสะกดก็ต้องเป็นตัวสะกดในมาตราเดียวกัน  แม้จะใช้พยัญชนะมาใช้เล่นสัมผัสเสียงสระอีก  สู-สู่-สู้,  ค่าย-หลาย
๒.๓.๓  การเล่นเสียงวรรณยุกต์คือการใช้คำที่ไล่ระดับเสียง ๒ หรือ ๓ ระดับ เป็นชุดๆ  เช่น  ลวง-ล่วง-ล้วง  
๓.        คุณค่าด้านสังคมและสะท้อนวิถีไทย  วรรณคดีเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต  บอกเล่าเรื่องราวด้านชีวิตความเป็นอยู่  ขนบธรรมเนียมประเพณี  สภาพสังคมหรือความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม  ซึ่งเป็นลักษณะประจำชาติที่แสดงออกมาทางวรรณคดีด้วยภาษาที่งดงามไพเราะ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเป็นชาติร่วมกัน  เพราะต่างรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาเดียวกัน  แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ
๓.๑  วรรณคดีชี้นำสังคม  เป็นการพิจารณาคุณค่าด้านสังคมว่าวรรณคดีมีส่วนเกี่ยวข้อกับสังคม  สะท้อนให้เป็นสภาพสังคม  ทั้งด้านค่านิยมวัฒนธรรมและความประพฤติของคนในสังคม  แนวทางการปฏิบัติตน  หรือชี้ให้เห็นปัญหาที่สังคมขณะนั้นกำลังเผชิญอยู่ 
๓.๒  วรรณคดีสร้างสำนึกร่วมในความเป็นชาติ  วรรณคดีเป็นสิ่งผูกพันจิตใจของคนในชาติให้สำนึกว่าร่วมอยู่ในชาติเดียวกัน  วรรณคดีจะเป็นสื่อกลางที่นำไปสู่การรวมเป็นชาติ  ซึ่งจะเป็นเครื่องผูกจิตใจคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
๔.        ข้อคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  การอ่านวรรณคดี  ผู้อ่านจะได้รับข้อคิดต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  ไม่ว่าจะเป็นคติธรรม  คำสอนต่างๆ โดยกวีนำเสนอผ่าน ฉาก  ตัวละคร  หรือบทสนทนา  อันเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละเรื่อง เช่น
          ๔.๑  ด้านการศึกษา  ในวรรณคดีหลายเรื่อง  จะให้ข้อคิดเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน  มีคำสอนที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษา
๔.๒  ด้านการรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง  เป็นข้อคิดสอนใจสามารถใช้ได้ทุกยุคสมัย
๔.๓  ด้านความสามัคคี  วรรณคดีช่วยปลุกสำนึกให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน
๔.๔  การปฏิบัติหน้าที่ของตน  ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ใดก็ทำด้วยความเต็มใจไม่เกี่ยงงอน  เพื่อให้งานประสบความสำเร็จ  ทั้งที่เป็นหน้าที่ต่อตนเอง  สังคม  หรือประเทศชาติ

หลักการวิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
๑.         การวิเคราะห์คุณค่าด้านเนื้อหา  ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจบทประพันธ์ให้ตลอดทั้งเรื่อง  และจินตนาการขึ้นในใจเพื่อจะได้เข้าใจสารที่กวีต้องการสื่อ  โดยศึกษาดังนี้
๑.๑  วิเคราะห์สาระของบทประพันธ์  สาระที่กวีสื่ออกมายังผู้อ่านอาจเกี่ยวกับข้อเท็จจริง  ความรู้  ความคิด(ทัศนะของกวี)  หรือความรู้สึกก็ได้  เมื่ออ่านบทประพันธ์แล้วผู้ศึกษาควรจับสาระนั้นมีลักษณะแปลกใหม่น่าสนใจหรือไม่  มีลักษณะสร้างสรรค์จรรโลงจิตใจ  หรือช่วยยกระดับจิตใจผู้อ่านให้สูงขึ้นได้หรือไม่  มีประโยชน์ต่อใครบ้าง  เพราะเหตุใด
๑.๒  วิเคราะห์การวางโครงเรื่องและการลำดับความในเรื่อง  คือ การวิเคราะห์ว่ากวีวางโครงเรื่องในลักษณะใด  มองหาปมของเรื่อง  เริ่มจากปัญหาที่ปรากฏจนกระทั่งถึงการคลี่คลายปัญหา
๑.๓  วิเคราะห์กลวิธีการประพันธ์  คือ  การพิจารณาเรื่องกลวิธีต่างๆ ที่ผู้แต่งนำมาใช้ในการประพันธ์  เพื่อช่วยให้งานประพันธ์มีคุณค่าน่าสนใจ  ชวนให้ผู้อ่านติดตามหรือเกิดความประทับใจในการวิเคราะห์คุณค่าด้านเนื้อหานี้  ผู้อ่านต้องเข้าใจกลวิธีในการนำเสนอ
วิเคราะห์กลวิธีการนำเสนอ คือ การพิจารณาว่ากวีใช้วิธีการใดที่ทำให้งานเขียนมีความน่าสนใจ  น่าติดตาม  หรือน่าประทับใจ  เช่น เสนออย่างตรงไปตรงมาทำให้ผู้อ่านจับความง่าย  เสนอด้วยให้ผู้อ่านตีความ  เสนอด้วยวิธีการใช้ภาพพจน์เหนือจริง  สร้างความแปลกใหม่และดึงดูความสนใจของผู้อ่านหรือเสนอด้วยวิธีการแสดงให้เห็นอาการเคลื่อนไหวทั้งการเคลื่อนไหวทางกายและทางอารมณ์  คือความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมาของตัวละคร  เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นย่อมมีอารมณ์แปรปรวน  เปลี่ยนไปมาตามความนึกคิดและสภาพแวดล้อม
๒.        วิเคราะห์คุณค่าด้านวรรณศิลป์  วิเคราะห์ความไพเราะของบทประพันธ์  คือการพิจารณาว่าบทประพันธ์นั้นๆ มีความไพเราะอย่างไร  ซึ่งความไพเราะของบทประพันธ์เกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ  คือ  ความไพเราะอันเกิดจากรสคำ  และความไพเราะอันเกิดจากรสความ
๒.๑  ความไพเราะอันเกิดจากรสคำ  พิจารณาได้จากการเลือกสรรคำ  และการเลือกคำที่มีเสียงเสนาะไพเราะ  ซึ่งเกิดจากวิธีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ  คำที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน  การเล่นคำ  และลีลาจังหวะของคำ
๒.๒  ความไพเราะอันเกิดจากรสความพิจารณาได้จากการใช้คำที่มีความหมายกระชับ  ชัดเจน  และการใช้โวหารต่างๆ  กวีถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ได้อย่างลึกซึ้ง  กระแทกอารมณ์  กระเทือนจิตใจ  และกระทบความรู้สึก  เช่น
                   ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด             ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว                    แพใบไล้น้ำลำคลอง
กระเพื่อมพลิ้วพลิ้วปลิวคว้าง                  เธอวางร่างปล่อยลอยล่อง
บนแพใบไผ่ใยยอง                             แสงทองส่องทาบฉาบมา
จากบทประพันธ์จะเห็นว่ารสของคำ คือ การเลือกสรรคำมาใช้เพื่อให้เกิดเสียงเสนาะ ที่ทำให้เห็นภาพและความไพเราะสละสลวย  การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง(อุปลักษณ์)  “ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด”  และมีการใช้คำเลียนสียงธรรมชาติ(สัทพจน์) “ออดแอดแอดออด”  นอกจากนี้จะพบว่ากวีทำให้บทประพันธ์งดงามสละสลวยด้วยสัมผัสใน  ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร 
จากบทประพันธ์ กวีใช้ อุปลักษณ์ ในการเปรียบ ไผ่ เป็น ซอ  ภาพของไผ่  อ้อเอียดเบียดออด  เมื่อลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่  คือ ลมพัดไปตามช่องว่างของลำไผ่ที่เรียวยาว  กวีใช้สัทพจน์ในการเลียนเสียงไผ่เบียดสีกัน  กวีจินตนาการว่ามีเจ้าหญิงที่กำลังรอคอยเจ้าชาย  เจ้าหญิงกำลังล่องลอยอยู่บนแพใบไผ่  และมีแสงแดดอาบไล้ลงมา  บทประพันธ์นี้กวีใช้ภาษาแสดงจินตภาพได้อย่างงดงามละเมียดละไม  โดยการใช้ภาพพจน์อุปลักษณ์และใช้สัทพจน์
๓.        การวิเคราะห์คุณค่าด้านสังคมและสะท้อนวิถีไทย  วรรณคดีและวรรณกรรมทั่วไป  ผู้แต่งมักสอดแทรกความรู้ ความคิด  และอารมณ์  สะท้อนวิถีชีวิต  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเชื่อ  ค่านิยมของคนในสังคมสมัยนั้นๆ ในวรรณคดี  ผู้อ่านจะต้องมีวิจารณญาณในการอ่าน คือ เมื่ออ่านแล้วนำไปคิดพิจารณาความรู้ ความคิด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
๓.๑  คุณค่าที่มีต่อผู้อ่าน คือ  การวิเคราะห์ว่า บทประพันธ์นั้นๆ มีคุณค่าต่อจิตใจ สติปัญญา  และความประพฤติของผู้อ่านแต่ละคนอย่างไร
๓.๒  คุณค่าที่มีต่อสังคม  คือ  การวิเคราะห์ว่าบทประพันธ์นั้นๆ ช่วยสะท้อนภาพของสังคมได้ชัดเจนมากน้อยเพียงไร  และมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมในระดับใด

๔.        การวิเคราะห์ข้อคิดเพี่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  วรรณคดีหรือวรรณกรรมทั่วไป  เมื่อผู้อ่านสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านเนื้อหา  ด้านวรรณศิลป์และด้านสังคมอย่างไรแล้ว  ผู้อ่านย่อมสามารถพิจารณาข้อคิดที่ได้จากการอ่านวรรณคดี  หรือวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ ที่สอดแทรกอยู่และเห็นแนวทางในการนำข้อคิดไปใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยมีแนวทาง ดังนี้
๔.๑  พิจารณาข้อคิด  การอ่านวรรณคดีและวรรณกรรมทุกเรื่องผู้อ่านจะได้ข้อคิดที่แตกต่างกัน  โดยขึ้นอยู่กันวัย  ประสบการณ์และพื้นฐานความรู้ของผู้อ่าน  เช่น  บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก ผู้อ่านจะได้ข้อคิดเกี่ยวกับความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก  ยอมเสียสละให้ได้ทุกย่าง  หรือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนพลายงามพบพ่อ  ข้อคิดที่ได้ เข่น ความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียนไม่ว่ายุคใดสมัยใด การศึกษายังคงมีความจำเป็น  แม้ว่าในสมัยนั้นโรงเรียนยังไม่มีก็ต้องศึกษาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือพระสงฆ์
๔.๒  การนำไปใช้  พิจารณาข้อคิดที่ได้จากการอ่านวรรณคดีแล้วสามารถนำประโยชน์ ความรู้ หรือสาระจากการอ่านมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิผล  เช่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ได้อ่านเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แล้วนำข้อคิดมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  นักเรียนก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนและการทำงาน  สามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติได้  อ่านแล้วสามารถนำสาระความรู้มาพัฒนาจิตใจพัฒนาปัญญาและจรรโลงสังคมได้

การอ่านวรรณคดีหรือวรรณกรรมจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้อ่านได้กลั่นกรองคุณค่าที่ได้จากวรรณคดีออกมา ทั้งคุณค่าด้านอารมณ์และคุณค่าทางความคิดนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม
และประเทศชาติ

2 ความคิดเห็น:

  1. มีอ้างอิงมั้ยคะ​ อยากอ่านเพิ่มเติมค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. หน้าจะไม่มีนะค่าาเพระเราไปดูมาแล้วค่าท!!

      ลบ