วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ใบความรู้ที่ ๑ เรื่องวรรณคดีและวรรณกรรม ม.๒

 ,วรรณคดี กับวรรณกรรม ทั้งสองคำ มาจากภาษาอังกฤษว่า Literatureเช่นเดียวกัน สำหรับภาษาไทยนั้นมีการใช้คำว่า "วรรณคดี" ก่อนภายหลังจึงได้เกิดมีคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้น และจริง ๆ แล้ว 
ในอดีตก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ไทยเรายังไม่มีคำว่า "วรรณคดี" ใช้ เราเรียกหนังสือวรรณคดีว่า "หนังสือ"  หรือเรียกโดยใช้ชื่อผู้แต่งกับชื่อลักษณะคำประพันธ์และประเภทของเนื้อหา (เช่น นิราศนรินทร์คำโคลงหรือนิราศ
พระยาตรัง เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อลักษณะคำประพันธ์และเหตุการณ์หรือโอกาสที่ทำให้เกิดเรื่องนั้นๆขึ้น (เช่น เพลงยางหรือกลอนนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น)
          วรรณคดี รู้จักกันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงตั้ง  โบราณคดีสโมสรขึ้น วัตถุประสงค์ของสโมสรนี้ก็เพื่อส่งเสริมการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี งานที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับวรรณคดีคือ การพิมพ์เผยแพร่วรรณคดีโบราณ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส และนิราศพระยาตรัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจคัดหนังสือที่แต่งดี เพื่อรับพระบรมราชานุญาตประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว หนังสือใดที่โบราณคดีสโมสรนี้ประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วก็ได้ชื่อว่าเป็น "วรรณคดี" ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็น "หนังสือดี"
        ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ คำว่า "วรรณคดี" จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งวรรณคดีสโมสร เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือ เช่นเดียวกับกิจการของ
โบราณคดีสโมสร และงานที่สำคัญของวรรณคดีสโมสรนี้ก็คือการพิจารณายกย่องหนังสือสำคัญของชาติ
ว่าเรื่องใดเป็นยอดทางไหน
        สรุปได้ว่า วรรณคดี ก็คือ หนังสือหรืองานเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงามด้านภาษา
การใช้คำ มีคุณค่าเข้าขั้นวรรณศิลป์ และมีเนื้อหาที่ดีสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้เกิดความเพลิดเพลิน
ความสำนึกคิด และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน
ลักษณะที่สำคัญของวรรณคดี สรุปได้ดังนี้
        ๑. มีความเป็นศิลป (Artistic) ในคุณลักษณะข้อนี้วรรณคดีต้องมีความงดงาม กล่าวคือ ต้องสะท้อนชีวิตในแง่ความเป็นจริงที่ถูกต้องงดงาม
        ๒. มีลักษณะของการคาดคะเน (Suggestive) วรรณคดีจะไม่อยู่ในลักษณะเปิดเผยแบบตายตัว หากแต่จะเข้าใจได้โดยการคาดคะเน การตีความหมายทางวรรณคดีจะขึ้นอยู่กับการคาดคะเนของแต่ละคน
การคาดคะเนอาจจะแตกต่างกันไปตามความซาบซึ้ง (
Appreciation) ของคนอ่าน
        ๓. มีลักษณะของความคงทน (Permanent) เป็นที่นิยมและอยู่ในความทรงจำของคนอ่านในระยะเวลาอันยาวนาน ไม่ใช่เป็นที่นิยมกันในวันนี้วันเดียว
ความหมายของวรรณกรรม
       คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Literature Works" หรือ "General Literature" และการใช้คำว่า "วรรณกรรม" มีปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยให้คำนิยามคำว่า "วรรณกรรมและศิลปกรรม" รวมกันไว้ดังนี้
        " วรรณกรรมและศิลปกรรม หมายความรวมว่าการทำขึ้นทุกชนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ จะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปร่างอย่างใดก็ตาม เช่น สมุด สมุดเล็ก และหนังสืออื่น ๆ เช่น ปาฐกถา กถาอื่น ๆ เทศนา
       คำว่า "วรรณกรรม" ก็ได้นิยมใช้กันแพร่หลายมาตามลำดับ และสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ได้จัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรมรวมอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีหน้าที่เผยแพร่วรรณกรรมและส่งเสริมศิลปะการแต่งหนังสือ เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นทางราชการสืบต่อจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
       อย่างไรก็ตาม ความหมายของวรรณกรรมที่มีผู้ให้ไว้หลากหลายนี้ ตามความหมายของหนังสือความรู้ทั่วไปทางวรรณกรรมนั้นจะมีความหมายกว้าง โดยกินความครอบคลุมงานหนังสือทุกชนิดหรือสิ่งพิมพ์ทุกประเภท ทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือตำรา หนังสืออ้างอิง วารสาร นิตยสาร และเอกสาร ต่าง ๆ เป็นต้น
ประเภทของวรรณกรรม
          เนื่องจาก วรรณคดี เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรม ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้จะมีความแตกต่างบ้างก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงประเภทของวรรณกรรม ก็จะกล่าวถึง ประเภทของวรรณคดีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีผู้เขียนได้แบ่งประเภท ตามเกณฑ์และลักษณะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
          ๑. แบ่งตามลักษณะการประพันธ์ มี ๒ ประเภท คือ
          ๑.๑ วรรณกรรมร้อยแก้ว คือ วรรณกรรมที่ไม่กำหนดบังคับคำหรือฉันทลักษณ์ เป็นความ
เรียงทั่ว ไป การเขียนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น
                    ๑.๑.๑ บันเทิงคดี (Fiction)คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ และให้ข้อคิด คตินิยม หรือ สอนใจ แก่ผู้อ่านเป็นวัตถุประสงค์รอง ดังที่ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ กล่าวว่า บันเทิงคดี เป็นวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์มีจุดประสงค์ที่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบันเทิงคดีเป็นวรรณกรรมที่ไร้สาระ บันเทิงคดีอาจมีสาระในด้านปรัชญา ด้านความเข้าใจการเมือง หรือประวัติศาสตร์ดีกว่าหนังสือสารคดีบางเรื่องก็ได้ วรรณกรรม ประเภทนี้ผู้ประพันธ์มุ่งหมายให้ความบันเทิง ต้องกระทบอารมณ์ผู้อ่าน มิใช่สำหรับให้ผู้อ่านได้ความรู้หรือความคิดเห็น ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร   ๑.๑.๒ สารคดี (Non-Fiction)คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้ หรือ ความคิด เป็นคุณประโยชน์สำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบายเชิงวิจารณ์ เชิงพรรณนาสั่งสอน โดยอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างมีระบบมีศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อมุ่งตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นให้แก่ผู้อ่าน และก่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญาแก่ผู้อ่าน  ได้แก่ ความเรียง บทความ สารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวประวัติ อนุทิน  จดหมายเหตุ
๑.๒ วรรณกรรม ร้อยกรอง คือ วรรณกรรมที่การเขียนมีการบังคับรูปแบบด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เช่น บังคับคณะ บังคับคำ และแบบแผนการส่งสัมผัสต่าง ๆ บางครั้งเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า กวีนิพนธ์ หรือ คำประพันธ์ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต เป็นต้น
          ๒. แบ่งตามลักษณะเนื้อเรื่อง มี ๒ ประเภท คือ
      ๒.๑ วรรณกรรมบริสุทธิ์ (Pure Literature) หมายถึง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจต่าง ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้วรรณกรรมนั้น ทรงคุณค่าในทางใดเป็นพิเศษ แต่วรรณกรรมนั้นอาจจะล้ำค่า ในสายตาของนักอ่านรุ่นหลังๆ ก็เป็นได้ แต่มิได้เป็นเจตจำนงแท้จริงของผู้แต่ง ผู้แต่งเพียงแต่จะแต่งขึ้นตามความปรารถนาในอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ
          ๒.๒ วรรณกรรมประยุกต์ (Applied Literature) หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยมีเจตจำนงที่สนองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจเกิดความบันดาลใจที่จะสืบทอดเรื่องราวความชื่นชมในวีรกรรมของผู้ใดผู้หนึ่งนั่นหมายถึงว่า มีเจตนาจะเขียนเรื่องราวขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง หรือมีจุดมุ่งหมายในการเขียนชัดเจน มิใช่เพื่อสนองอารมณ์อย่างเดียว เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมการละคร และอาจหมายรวมถึงพงศาวดารต่าง ๆ ด้วย

          ๓. แบ่งตามลักษณะการถ่ายทอด มี ๒ ประเภท คือ
      ๓.๑ วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการบอก การเล่า และการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสหรือในวาระใด เช่น ในการนอน การเต้น การรำ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ
      ๓.๒ วรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเขียน การจาร และการจารึก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำลงบนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ เยื่อไม้ ใบไม้ แผ่นดินเผา หรือ ศิลา
          ๔. แบ่งตามลักษณะของเนื้อหา(ซึ่งจะเน้นไปทางด้านวรรณคดีไทยเป็นส่วนใหญ่)มี ๗ ประเภท คือ
      ๔.๑ วรรณคดีนิราศ วรรณคดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการเขียนในทำนองบันทึกการเดินทาง การพลัดพราก การคร่ำครวญเมื่อต้องไกลที่อยู่อาศัย คนรักหรือสิ่งรัก การเขียนในเชิงนิราศนี้มีรูปแบบโดยเฉพาะ เป็นวรรณคดีที่กวีนิยมเขียนกันมาก มีวรรณคดีมากมายหลายเรื่อง เช่น กำสรวลศรีปราชญ์ ทวาทศมาส นิราศของสุนทรภู่ นิราศของพระยาตรัง นิราศนรินทร์ เป็นต้น
              ๔.๒ วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ เป็นวรรณคดีในเชิงประวัติศาสตร์การบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินในทำนองสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ วรรณคดี ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเป็นจำนวนมากมาย เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย เพลงยาวเฉลิมพระเกียติร และโคลงเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีประเภทที่ต้องการบันทึกเรื่องราวสำคัญบางประการ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
              ๔.๓ วรรณคดีศาสนา วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม คือ มีอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น มหาชาติฉบับต่าง ๆ พระปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิฉบับต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีจากชาดก ทั้งนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก นันโทปทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น
     ๔.๔ วรรณคดีที่เกี่ยวกับพิธีการขนบธรรมเนียมประเพณี เนื้อหาของวรรณคดีประเภทนี้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ พิธีการต่าง ๆ เช่น ตำรานางนพมาศ พระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ
      ๔.๕ วรรณคดีสุภาษิต วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสอน ข้อเตือนใจ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตพระร่วง โคลงราชสวัสดิ์ อิศรญาณภาษิต เป็นต้น
      ๔.๖ วรรณคดีการละครหรือนาฏวรรณคดี วรรณคดีประเภทนี้นำไปใช้แสดงละคร หรือการแสดงทางนาฏศิลป์ในลักษณะอื่น เช่น เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง ไกรทอง เป็นต้น
      ๔.๗ วรรณคดีนิยาย วรรณคดีประเภทนี้ถ้าเขียนเป็นการประพันธ์ประเภทกลอนจะเรียกว่ากลอนประโลมโลกย์ วรรณคดีนิยายนี้มีทั้งไม่เขียนเป็นกลอน เช่น ลิลิตพระลอและที่เขียนเป็นกลอน เช่น
พระอภัยมณี เสภาขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น
ข้อมูลจาก

ใบความรู้ เรื่อง คุณค่าและการวิเคราะห์คุณค่าวรรณคดีและวรรณกรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

วรรณคดีและวรรณกรรม
วรรณกรรม  คือ  ผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากอารมณ์  ความรู้สึกนึกคิดและการใช้ภาษา
อย่างมีศิลปะ
วรรณคดี คือ  ผลงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี  มีศิลปะในการประพันธ์ 
ให้คุณค่าควรแก่การศึกษา  มีการอ่านสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน
การวิเคราะห์  คือ  การแยกแยะรายละเอียดองค์ประกอบต่างๆ ศึกษาภูมิหลังประวัติที่มา
ของเรื่อง  ประวัติผู้แต่ง  เนื้อหา  เรื่องราว  การดำเนินเรื่อง  ตลอดจนลักษณะนิสัยของตัวละคร
การวิจารณ์ คือ การใช้เหตุผล  อธิบายความรู้สึกของตนเพื่อวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น
ต่อกลวิธีการแต่ง  การใช้ภาษารูปแบบคำประพันธ์  เนื้อหา  แนวคิด  แล้วพิจารณางานเขียนนั้น  ทั้งที่นำเสนอโดยตรง  ที่แฝงไว้ให้ตีความและศึกษาบริบทต่างๆ ของงานเขียนนั้น
เนื้อหาวรรณคดีไทย
๑.         วรรณคดีศาสนา  มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างศรัทธาและสั่งสอนให้ผู้อ่านเข้าใจสาระหลักธรรมของศาสนา  เนื้อเรื่องมีหลักธรรมของศาสนา  เนื้อเรื่องมีทั้งที่นำมาจากคัมภีร์ศาสนาโดยตรงและที่นำเค้าโครงหรือแนวคิดของศาสนามาผูกเป็นเรื่อง เช่น ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก  ไตรภูมิพระร่วง  สามัคคีเภทคำฉันท์  ธรรมาธรรมะสงคราม ฯลฯ
๒.        วรรณคดีสุภาษิตคำสอน  แต่งขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้อ่านนำไปประพฤติปฏิบัติ โดยมีเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมทางศาสนา  เช่น สุภาษิตพระร่วง  โคลงโลกนิติ ฯลฯ
๓.        วรรณคดีขนบประเพณีและพิธีกรรม  แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ เป็นบทที่นำไปใช้ในการประกอบพิธี  มีเนื้อหาและการใช้ภาษาที่ไพเราะ  สร้างอารมณ์ให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี เช่น กาพย์เห่เรือ  ลิลิตโองการแช่งน้ำ  มหาชาติคำเทศน์  หรืออีกลักษณะหนึ่ง คือ เนื้อหาให้รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เช่น  พระราชพิธีสิบสองเดือน  โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ฯลฯ
๔.        วรรณคดีประวัติศาสตร์  มีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาสงคราม  การสดุดีวีรชนที่กล้าหาญและเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง  เช่น  ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ลิลิตยวนพ่าย  ฯลฯ

คุณค่าของวรรณคดี
๑.         คุณค่าด้านเนื้อหา  ช่วยให้เป็นความสำคัญของการศึกษาวรรณคดีโดยอาศัยการดำเนินเรื่องหรือแนวคิดเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์วรรณคดี  เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง  การดำเนินเรื่องในเนื้อหาเป็นส่วนที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ทั้งสอดแทรกแนวคิดและกลวิธีในการดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านได้ใช้มุมมองความคิดพิจารณาเรื่องนั้นๆ โดยผู้อ่านอาจมีทัศนะต่อเรื่องแตกต่างกันไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสนใจของผู้อ่าน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เกิดการพัฒนาความคิดและเสริมสร้างจินตนาการ  ช่วยยกระดับความคิดและจิตใจของผู้อ่านให้สูงขึ้น  การวิเคราะห์คุณค่าด้านเนื้อหา  สามารถวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

      ๑.๑ ได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เช่น  ขนบธรรมเนียม ประเพณี สภาพสังคม  การเมืองการปกครอง  การดำรงชีวิตของคนในสมัยนั้นๆ และความรู้อื่นๆ
          ๑.๒  ได้รับประสบการณ์  กวีถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกิดจากการมองโลกอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก  จากประสบการณ์ส่วนตัวของกวีได้กลายเป็นประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้อ่านกับกวี  ผู้อ่านได้รับประสบการณ์จากการอ่านงานของกวี
๑.๓  เกิดจินตนาภาพ  ผู้อ่านเห็นคุณค่าในความงดงามของวรรณคดีทำให้เกิดความประทับใจ และรับรู้ความคิดที่แปลกใหม่ เป็นกระบวนการที่ให้ราบละเอียดโดดเด่น และให้ผู้อ่านได้สร้างความคิดตาม  ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน  ผู้อ่านเกิดความคิดจินตนาการกว้างไกลและประเทืองปัญญา
๑.๔  พัฒนาจิตใจผู้อ่าน  วรรณคดีต่างต่างๆ มีเนื้อหาสาระ เรื่องราวสนุก อ่านแล้วสบายใจ สามารถกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ให้ข้อคิดคติธรรม อีกทั้งสอนให้ประพฤติดี  ประพฤติชอบ สร้างสรรค์ จรรโลงใจให้เกิดกำลังใจยามที่ท้อแท้
๒.        คุณค่าด้านวรรณศิลป์  วรรณคดีที่ได้รับยกย่องว่าดีเด่นต้องมีกลวิธีการประพันธ์ที่ดีเยี่ยม และให้คำเหมาะสมกับลักษณะหน้าที่ของคำ ถูกต้องตรงความหมาย  เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและมีเสียงเสนาะ  ซึ่งผู้อ่านจะเกิดจินตนาการตามเนื้อเรื่องได้  จะต้องเข้าใจสำนวนโวหารและภาพพจน์  เสมือนได้ยินเสียง ได้เห็นภาพเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความรู้สึกคล้อยตาม  ดังนี้
๒.๑  การใช้โวหาร
๒.๑.๑  บรรยายโวหาร  เป็นการเล่าเรื่อง  เล่าเหตุการณ์ที่มีเวลาสถานที่ ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน  การบรรยายมีจุดมุ่งหมายให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเรื่องราวนั้นๆ เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างไร  เรื่องราวดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริง  หรือเป็นเรื่องที่เกิดจากจินตนาการของกวีก็ได้
๒.๑.๒  พรรณนาโวหาร  เป็นการให้รายละเอียดของเรื่องราว  เพื่อให้ผู้อ่านเห็นสภาพหรือลักษณะที่ละเอียดลออและพรรณนาความรู้สึกกระทบอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน  ทั้งนี้การพรรณนาทำให้ผู้อ่านผู้ฟังมองเห็นภาพ  การพรรณนาจึงมักแทรกอยู่ในการเล่าเรื่องหรือการบรรยาย
๒.๑.๓  เทศนาโวหาร  คือโวหารที่มุ่งในการสั่งสอน  โน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้คล้อยตาม
๒.๑.๔  สาธกโวหาร  คือ โวหารที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้วยการยกตัวอย่างประกอบ  เพื่ออธิบายสนับสนุนความคิดเห็นให้น่าเชื่อถือ
๒.๑.๕  อุปมาโวหาร  คือ  โวหารเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง  เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น
๒.๒  การใช้ภาพพจน์เป็นการพลิกแพลงภาษาให้แปลกออกไปกว่าที่เป็นอยู่ปกติ  ทำให้เกิดรสกระทบความรู้สึกและอารมณ์ต่างกับภาษาที่ใช้อย่างตรงไปตรงมา  ดังนี้
๒.๒.๑  อุปมา  คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งคล้ายหรือเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง  โดยมีคำแสดงความเปรียบ เช่น  เปรียบ  ประดุจ  ดุจ  ดั่ง เหมือน  ราวกับ  ราว  เพียง  เพี้ยง  ฯลฯ
๒.๒.๒  อุปลักษณ์  คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  ซึ่งแตกต่างจากการอุปมา  โดยอุปลักษณ์มักใช้คำว่า  เป็น  คือ  ในการเปรียบ
๒.๒.๓  สัญลักษณ์  คือ  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  โดยไม่มีคำแสดงความเปรียบ  “เขาเป็นคนเจ้าชู้มาก  เห็นเปลี่ยนตุ๊กตาหน้ารถประจำเลย”
๒.๒.๔  อติพจน์  คือ  การใช้ถ้อยคำที่กล่าวผิดไปจากความเป็นจริง  โดยกล่าวถึงสิ่งหนึ่งเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดูเกินมากกว่าความจริง
๒.๒.๕  บุคคลวัต  คือ  การกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจให้มีการกระทำเหมือนมนุษย์
๒.๒.๖  สัทพจน์  คือ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ 

๒.๓  การเล่นเสียงคือการเลือกสรรคำที่มีเสียงสัมผัสกัน ได้แก่ การเล่นเสียงอักษร เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ เพื่อเพิ่มความไพเราะและแสดงความสามารถของกวีที่แม้จะเล่นเสียงของคำแต่ยังคงความหมายไว้ได้    ดังบทประพันธ์
        เสนาสูสู่สู้                  ศรแผลง
ยิ่งค่ายหลายเมืองแยง              แย่งแย้ง
รุกร้นร่นรนแรง                    ฤทธิ์รีบ
ลวงล่วงล้วงวังแล้ว                 รวบเร้าเอามา
๒.๓.๑  การเล่นเสียงอักษร  คือการใช้คำที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกันหลายๆ พยางค์ติดกัน  เพื่อความไพเราะ  จากบทประพันธ์ดังนี้  รุก-ร้น-ร่น-รน-แรง-ฤทธิ์-รีบ  เป็นเสียง /ร/
๒.๓.๒  การเล่นเสียงสระคือ การใช้สัมผัสสระที่มีเสียงตรงกัน  ถ้ามีตัวสะกดก็ต้องเป็นตัวสะกดในมาตราเดียวกัน  แม้จะใช้พยัญชนะมาใช้เล่นสัมผัสเสียงสระอีก  สู-สู่-สู้,  ค่าย-หลาย
๒.๓.๓  การเล่นเสียงวรรณยุกต์คือการใช้คำที่ไล่ระดับเสียง ๒ หรือ ๓ ระดับ เป็นชุดๆ  เช่น  ลวง-ล่วง-ล้วง  
๓.        คุณค่าด้านสังคมและสะท้อนวิถีไทย  วรรณคดีเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต  บอกเล่าเรื่องราวด้านชีวิตความเป็นอยู่  ขนบธรรมเนียมประเพณี  สภาพสังคมหรือความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม  ซึ่งเป็นลักษณะประจำชาติที่แสดงออกมาทางวรรณคดีด้วยภาษาที่งดงามไพเราะ ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเป็นชาติร่วมกัน  เพราะต่างรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาเดียวกัน  แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ
๓.๑  วรรณคดีชี้นำสังคม  เป็นการพิจารณาคุณค่าด้านสังคมว่าวรรณคดีมีส่วนเกี่ยวข้อกับสังคม  สะท้อนให้เป็นสภาพสังคม  ทั้งด้านค่านิยมวัฒนธรรมและความประพฤติของคนในสังคม  แนวทางการปฏิบัติตน  หรือชี้ให้เห็นปัญหาที่สังคมขณะนั้นกำลังเผชิญอยู่ 
๓.๒  วรรณคดีสร้างสำนึกร่วมในความเป็นชาติ  วรรณคดีเป็นสิ่งผูกพันจิตใจของคนในชาติให้สำนึกว่าร่วมอยู่ในชาติเดียวกัน  วรรณคดีจะเป็นสื่อกลางที่นำไปสู่การรวมเป็นชาติ  ซึ่งจะเป็นเครื่องผูกจิตใจคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
๔.        ข้อคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  การอ่านวรรณคดี  ผู้อ่านจะได้รับข้อคิดต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  ไม่ว่าจะเป็นคติธรรม  คำสอนต่างๆ โดยกวีนำเสนอผ่าน ฉาก  ตัวละคร  หรือบทสนทนา  อันเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละเรื่อง เช่น
          ๔.๑  ด้านการศึกษา  ในวรรณคดีหลายเรื่อง  จะให้ข้อคิดเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน  มีคำสอนที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษา
๔.๒  ด้านการรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง  เป็นข้อคิดสอนใจสามารถใช้ได้ทุกยุคสมัย
๔.๓  ด้านความสามัคคี  วรรณคดีช่วยปลุกสำนึกให้มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน
๔.๔  การปฏิบัติหน้าที่ของตน  ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ใดก็ทำด้วยความเต็มใจไม่เกี่ยงงอน  เพื่อให้งานประสบความสำเร็จ  ทั้งที่เป็นหน้าที่ต่อตนเอง  สังคม  หรือประเทศชาติ

หลักการวิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
๑.         การวิเคราะห์คุณค่าด้านเนื้อหา  ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจบทประพันธ์ให้ตลอดทั้งเรื่อง  และจินตนาการขึ้นในใจเพื่อจะได้เข้าใจสารที่กวีต้องการสื่อ  โดยศึกษาดังนี้
๑.๑  วิเคราะห์สาระของบทประพันธ์  สาระที่กวีสื่ออกมายังผู้อ่านอาจเกี่ยวกับข้อเท็จจริง  ความรู้  ความคิด(ทัศนะของกวี)  หรือความรู้สึกก็ได้  เมื่ออ่านบทประพันธ์แล้วผู้ศึกษาควรจับสาระนั้นมีลักษณะแปลกใหม่น่าสนใจหรือไม่  มีลักษณะสร้างสรรค์จรรโลงจิตใจ  หรือช่วยยกระดับจิตใจผู้อ่านให้สูงขึ้นได้หรือไม่  มีประโยชน์ต่อใครบ้าง  เพราะเหตุใด
๑.๒  วิเคราะห์การวางโครงเรื่องและการลำดับความในเรื่อง  คือ การวิเคราะห์ว่ากวีวางโครงเรื่องในลักษณะใด  มองหาปมของเรื่อง  เริ่มจากปัญหาที่ปรากฏจนกระทั่งถึงการคลี่คลายปัญหา
๑.๓  วิเคราะห์กลวิธีการประพันธ์  คือ  การพิจารณาเรื่องกลวิธีต่างๆ ที่ผู้แต่งนำมาใช้ในการประพันธ์  เพื่อช่วยให้งานประพันธ์มีคุณค่าน่าสนใจ  ชวนให้ผู้อ่านติดตามหรือเกิดความประทับใจในการวิเคราะห์คุณค่าด้านเนื้อหานี้  ผู้อ่านต้องเข้าใจกลวิธีในการนำเสนอ
วิเคราะห์กลวิธีการนำเสนอ คือ การพิจารณาว่ากวีใช้วิธีการใดที่ทำให้งานเขียนมีความน่าสนใจ  น่าติดตาม  หรือน่าประทับใจ  เช่น เสนออย่างตรงไปตรงมาทำให้ผู้อ่านจับความง่าย  เสนอด้วยให้ผู้อ่านตีความ  เสนอด้วยวิธีการใช้ภาพพจน์เหนือจริง  สร้างความแปลกใหม่และดึงดูความสนใจของผู้อ่านหรือเสนอด้วยวิธีการแสดงให้เห็นอาการเคลื่อนไหวทั้งการเคลื่อนไหวทางกายและทางอารมณ์  คือความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมาของตัวละคร  เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นย่อมมีอารมณ์แปรปรวน  เปลี่ยนไปมาตามความนึกคิดและสภาพแวดล้อม
๒.        วิเคราะห์คุณค่าด้านวรรณศิลป์  วิเคราะห์ความไพเราะของบทประพันธ์  คือการพิจารณาว่าบทประพันธ์นั้นๆ มีความไพเราะอย่างไร  ซึ่งความไพเราะของบทประพันธ์เกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ  คือ  ความไพเราะอันเกิดจากรสคำ  และความไพเราะอันเกิดจากรสความ
๒.๑  ความไพเราะอันเกิดจากรสคำ  พิจารณาได้จากการเลือกสรรคำ  และการเลือกคำที่มีเสียงเสนาะไพเราะ  ซึ่งเกิดจากวิธีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ  คำที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน  การเล่นคำ  และลีลาจังหวะของคำ
๒.๒  ความไพเราะอันเกิดจากรสความพิจารณาได้จากการใช้คำที่มีความหมายกระชับ  ชัดเจน  และการใช้โวหารต่างๆ  กวีถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ได้อย่างลึกซึ้ง  กระแทกอารมณ์  กระเทือนจิตใจ  และกระทบความรู้สึก  เช่น
                   ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด             ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว                    แพใบไล้น้ำลำคลอง
กระเพื่อมพลิ้วพลิ้วปลิวคว้าง                  เธอวางร่างปล่อยลอยล่อง
บนแพใบไผ่ใยยอง                             แสงทองส่องทาบฉาบมา
จากบทประพันธ์จะเห็นว่ารสของคำ คือ การเลือกสรรคำมาใช้เพื่อให้เกิดเสียงเสนาะ ที่ทำให้เห็นภาพและความไพเราะสละสลวย  การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง(อุปลักษณ์)  “ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด”  และมีการใช้คำเลียนสียงธรรมชาติ(สัทพจน์) “ออดแอดแอดออด”  นอกจากนี้จะพบว่ากวีทำให้บทประพันธ์งดงามสละสลวยด้วยสัมผัสใน  ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร 
จากบทประพันธ์ กวีใช้ อุปลักษณ์ ในการเปรียบ ไผ่ เป็น ซอ  ภาพของไผ่  อ้อเอียดเบียดออด  เมื่อลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่  คือ ลมพัดไปตามช่องว่างของลำไผ่ที่เรียวยาว  กวีใช้สัทพจน์ในการเลียนเสียงไผ่เบียดสีกัน  กวีจินตนาการว่ามีเจ้าหญิงที่กำลังรอคอยเจ้าชาย  เจ้าหญิงกำลังล่องลอยอยู่บนแพใบไผ่  และมีแสงแดดอาบไล้ลงมา  บทประพันธ์นี้กวีใช้ภาษาแสดงจินตภาพได้อย่างงดงามละเมียดละไม  โดยการใช้ภาพพจน์อุปลักษณ์และใช้สัทพจน์
๓.        การวิเคราะห์คุณค่าด้านสังคมและสะท้อนวิถีไทย  วรรณคดีและวรรณกรรมทั่วไป  ผู้แต่งมักสอดแทรกความรู้ ความคิด  และอารมณ์  สะท้อนวิถีชีวิต  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเชื่อ  ค่านิยมของคนในสังคมสมัยนั้นๆ ในวรรณคดี  ผู้อ่านจะต้องมีวิจารณญาณในการอ่าน คือ เมื่ออ่านแล้วนำไปคิดพิจารณาความรู้ ความคิด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
๓.๑  คุณค่าที่มีต่อผู้อ่าน คือ  การวิเคราะห์ว่า บทประพันธ์นั้นๆ มีคุณค่าต่อจิตใจ สติปัญญา  และความประพฤติของผู้อ่านแต่ละคนอย่างไร
๓.๒  คุณค่าที่มีต่อสังคม  คือ  การวิเคราะห์ว่าบทประพันธ์นั้นๆ ช่วยสะท้อนภาพของสังคมได้ชัดเจนมากน้อยเพียงไร  และมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมในระดับใด

๔.        การวิเคราะห์ข้อคิดเพี่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  วรรณคดีหรือวรรณกรรมทั่วไป  เมื่อผู้อ่านสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านเนื้อหา  ด้านวรรณศิลป์และด้านสังคมอย่างไรแล้ว  ผู้อ่านย่อมสามารถพิจารณาข้อคิดที่ได้จากการอ่านวรรณคดี  หรือวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ ที่สอดแทรกอยู่และเห็นแนวทางในการนำข้อคิดไปใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยมีแนวทาง ดังนี้
๔.๑  พิจารณาข้อคิด  การอ่านวรรณคดีและวรรณกรรมทุกเรื่องผู้อ่านจะได้ข้อคิดที่แตกต่างกัน  โดยขึ้นอยู่กันวัย  ประสบการณ์และพื้นฐานความรู้ของผู้อ่าน  เช่น  บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก ผู้อ่านจะได้ข้อคิดเกี่ยวกับความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก  ยอมเสียสละให้ได้ทุกย่าง  หรือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนพลายงามพบพ่อ  ข้อคิดที่ได้ เข่น ความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียนไม่ว่ายุคใดสมัยใด การศึกษายังคงมีความจำเป็น  แม้ว่าในสมัยนั้นโรงเรียนยังไม่มีก็ต้องศึกษาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือพระสงฆ์
๔.๒  การนำไปใช้  พิจารณาข้อคิดที่ได้จากการอ่านวรรณคดีแล้วสามารถนำประโยชน์ ความรู้ หรือสาระจากการอ่านมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิผล  เช่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ได้อ่านเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แล้วนำข้อคิดมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  นักเรียนก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนและการทำงาน  สามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติได้  อ่านแล้วสามารถนำสาระความรู้มาพัฒนาจิตใจพัฒนาปัญญาและจรรโลงสังคมได้

การอ่านวรรณคดีหรือวรรณกรรมจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้อ่านได้กลั่นกรองคุณค่าที่ได้จากวรรณคดีออกมา ทั้งคุณค่าด้านอารมณ์และคุณค่าทางความคิดนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม
และประเทศชาติ

ข่าววันนี้







วันที่ 19 พ.ค. 2559 คณะครูเข้ารับการอบรมโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี่้ยง ณ โรงเรียนกะปงพิทยาคม  จังหวัดพังงา